ภาวะวูบหมดสติ เป็นอีกหนึ่งอาการที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปอาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว บางวันตื่นเช้ามาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ อยู่ในที่กลางแจ้งหรือทำกิจกรรมที่ทำให้เสียเหงื่อแบบไม่ได้หยุดพัก สุดท้ายหน้ามืดเป็นลมโดยไม่รู้ตัว หลายคนอาจคิดว่าการวูบหมดสติมาจากร่างกายอ่อนเพลีย แต่ความจริงแล้วกลับมีสิ่งที่น่ากลัวมากกว่านั้น วันนี้ ALCOTEC ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาวะวูบหมดสติมาให้ทุกคนได้เข้าใจกันมากขึ้น
ภาวะวูบหมดสติคืออะไร
ภาวะวูบหมดสติ (Syncopal Attack) คือ อาการสูญเสียความรู้สึกตัวแบบเฉียบพลัน ทำให้สูญเสียการทรงตัวไปชั่วขณะ ซึ่งเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอทำให้ได้รับออกซิเจนน้อยตามไปด้วย การวูบหมดสติเกิดขึ้นภายในเวลาสั้นๆ แต่สามารถฟื้นคืนสติได้ด้วยตัวเอง
ลักษณะอาการวูบหมดสติ
ก่อนที่จะวูบหมดสติ ร่างกายมักจะมีอาการเตือนก่อน เช่น วิงเวียนศีรษะ รู้สึกโคลงเคลง ตาพร่ามัว เห็นแสงวูบวาบเหมือนแฟลชเข้าตา ปลายมือและปลายเท้าชา คลื่นไส้ จากนั้นก็จะเกิดอาการวูบหมดสติประมาณ 30 วินาที ถึง 5 นาที ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละคน บางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วยตอนหมดสติไม่ว่าจะเป็น ล้มทั้งยืน ตาค้าง เหงื่อออกที่หน้า ส่วนใหญ่จะจำเหตุการณ์ ณ ขณะนั้นไม่ได้
สาเหตุของการหมดสติมีอะไรบ้าง
การวูบหมดสติเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้
เสียเหงื่อและน้ำมากเกินไป
ขาดน้ำในปริมาณที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เล่นกีฬา ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ
ระบบประสาททำงานผิดปกติ
ระบบประสาททำงานผิดปกติสามารถแสดงออกได้จากหลายสถานการณ์ เช่น
- การไอ จาม เบ่งปัสสาวะ หรืออุจจาระ
- อาการหลังออกกำลังกาย
- ยืนในที่แออัดนานๆ อากาศไม่ถ่ายเท
- ผลข้างเคียงจากโรคเบาหวาน
- ผลข้างเคียงจากโรคทางสมองอย่าง พาร์กินสัน และสมองเสื่อม
อาการข้างเคียงจากโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ
สาเหตุจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบการทำงานของหัวใจ เช่น
- ลิ้นหัวใจตีบ
- กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวผิดปกติ
- กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ
- ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
- หลอดเลือดหัวใจตีบ
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ผลข้างเคียงจากยารักษาโรคบางชนิด
- ยาขับปัสสาวะ
- ยาต้านเศร้า
- ยารักษาต่อมลูกหมาก
- ยาความดันโลหิต
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยหมดสติเบื้องต้น ควรทำอย่างไร
การปฐมพยาบาลผู้ป่วยวูบหมดสติ สามารถทำแบบเบื้องต้นได้ดังนี้
- ให้ผู้ป่วยนอนราบลงไปกับพื้น ห้ามมุงดูเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก
- ตะแคงศีรษะออกไปด้านข้างเพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นตกไป
- หากในปากของผู้ป่วยมีการเคี้ยวอาหารอยู่หรือใส่ฟันปลอม ให้เคลียร์ออกให้หมด
- ในระหว่างปฐมพยาบาล ควรเรียกหน่วยกู้ชีพหรือรถฉุกเฉินมาดูอาการโดยเร็วที่สุด
แนวทางการรักษา
การรักษาภาวะวูบหมดสติ แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากต้นเหตุของอาการ เพื่อรักษาจากต้นเหตุ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เป็นต้น ส่วนในกรณีอื่นๆ ที่ต้องใช้เครื่องมือและยา มีแนวทางดังนี้
- การใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) สำหรับผู้ที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- การใช้ยาสำหรับผู้ป่วย Orthostatic Hypotension
- ผู้ที่มีอาการยืนนานจนวูบ แพทย์จะแนะนำให้ใส่ถุงน่องเพื่อลดการขยายตัวของหลอดเลือด
การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะวูบหมดสติ
ทุกคนสามารถป้องกันภาวะวูบหมดสติได้ หากมีการดูแลสุขภาพหมั่นออกกำลังกาย คอยตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมออย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี สามารถช่วยวิเคราะห์ภาวะเสี่ยงที่ตัวเองกำลังเผชิญได้ ทำให้เรารับมือกับโรคภัยต่างๆ ได้ทัน ส่วนวิธีอื่นๆ ที่ช่วยได้มีดังนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 8-10 แก้ว และพยายามอย่าปล่อยให้ตัวเองสูญเสียน้ำมากเกินไป
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไปเน้นที่ความพอดี
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่พอเหมาะกับวัยของตัวเอง และควบคุมน้ำหนักให้ได้ตามเกณฑ์
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนวันละ 7-8 ชั่วโมง ถือว่าเป็นการนอนที่มีคุณภาพ
- หากต้องทานยาที่ทำให้เกิดอาการวูบหมดสติ ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ยา
สรุปเกี่ยวกับภาวะวูบหมดสติ
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจเข้าใจแล้วว่า ภาวะวูบหมดสติมีความอันตรายมากขนาดไหน ถ้าเรารู้จักการตรวจร่างกายอย่างเป็นประจำก็จะทำให้คุณสามารถรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ต่อร่างกายได้อย่างตรงจุด สำหรับใครที่กำลังมองหาเครื่องมือกระตุกหัวใจ AED เพื่อช่วยชีวิตในยามฉุกเฉิน Alcotec ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์คุณภาพ เลือกสินค้าหรือสอบถามรายละเอียดกับพวกเราได้เลย